fbpx

How to เปิดเพจใหม่ สร้างแบรนด์ธุรกิจออนไลน์ยังไงให้คนรู้จัก

ท่ามกลางยุคดิจิตอลแบบนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีธุรกิจออนไลน์เกิดขึ้นใหม่มากมาย เพราะการสร้าง ‘แบรนด์’ มันง่าย แต่อย่าลืมว่า การจะต่อยอดให้ยั่งยืน, มีคนรู้จัก, และเพิ่มยอดขายให้แบรนด์ของเจ้านายเรื่อยๆ น่ะมันยาก ยิ่งถ้าสินค้าของเจ้านายมีคู่แข่งจำนวนมาก การสร้างกลยุทธ์ให้คนจดจำแบรนด์ได้ก็ยิ่งจำเป็น

ในวันนี้หมาน้อยจึงอยากแนะนำ 5 เคล็ดลับดีๆ สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หน้าใหม่ ที่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรให้เพจเปรี้ยงปัง จนกลายเป็นที่รู้จักในโลกโซเชียล

  1. ชื่อร้านต้องจำง่าย

อย่างที่รู้กันว่า ร้านค้าออนไลน์ในตอนนี้มีล้นตลาด ดังนั้นการตั้งชื่อเพจของร้านจึงเป็นอะไรที่สำคัญมาก เพราะไม่เพียงแต่มันจะบอกถึงตัวตนของร้านแล้ว มันยังจะเป็นชื่อที่ติดตัวสินค้าของเจ้านายไปตลอด

ในส่วนของหลักการตั้งชื่อเพจนั้น นอกจากต้องระวังไม่ให้เผลอตั้งชื่อซ้ำกับคนอื่นแล้ว ยังควรเลือกใช้คำที่กระชับ จำง่าย และไม่เกิน 3 พยางค์ ขอแถมอีกอย่าง การตั้งชื่อเพจอะไรก็ตาม อยากให้จำไว้ว่า ชื่อที่เด่น ภาษาสวย แต่อ่านง่าย มักได้เปรียบในด้านการจดจำเสมอ

  1. คาร์แรคเตอร์เพจร้านต้องแตกต่าง

ในการจะเปิดขายอะไรสักอย่างบนโลกออนไลน์ สิ่งแรกๆ ที่อยากให้ลองทำคือ วิเคราะห์คู่แข่ง ดังคำกล่าวที่ว่า ‘รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง’ การศึกษาข้อมูลของแบรนด์สินค้าประเภทเดียวกัน จะทำให้สามารถจับจุดได้ว่า เนื้อหาแบบไหนที่ผู้คนให้ความสนใจ

ทั้งนี้ขอเตือนไว้เลยว่า การศึกษางานคู่แข่ง ไม่ได้แปลว่าให้เจ้านายไปลอกคาร์แรคเตอร์เขา แต่ให้นำมาประยุกต์ใช้เพื่อสอดคล้องกับรูปแบบของสินค้าที่ต้องการขาย และตอบโจทย์ของคนในสังคมโซเชียลให้ได้ว่า ร้านของเจ้านายตรงกับความต้องการของพวกเขาอย่างไร

  1. รีวิวต้องไม่ขาด

เดี๋ยวนี้การตลาดออนไลน์เป็นที่นิยมและจำเป็นอย่างมากในสังคมเรา เพราะลูกค้าส่วนใหญ่นั้นมักเลือกซื้อสินค้าและบริการโดยดูจากการรีวิวเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการรีวิวสินค้าลงในเพจของร้านโดยตรงก็ดี รีวิวลงเว็บไซต์สำหรับการรีวิวสินค้าก็ตาม หรือแม้แต่การรีวิวผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่กระตุ้นให้ผู้พบเห็นเกิดอาการอยากลองเปิดดูข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าของเจ้านายทั้งสิ้น

นี่จึงเป็นที่มาว่า ทำไมเดี๋ยวนี้แทบทุกแบรนด์มักติดต่อจ้างอินฟลูเอนเซอร์หรือผู้ที่มีชื่อเสียง มีคนติดตามเยอะมารีวิวผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ แต่วิธีนี้ยังมีข้อเสียอยู่บ้างตรงที่อาจถูกมองว่า อินฟลูเอนเซอร์ไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์หรือใช้แต่รีวิวไม่ตรงความจริงได้ ในระยะหลังหลายแบรนด์จึงเลือกเปลี่ยนกลยุทธ์ไปเน้นใช้คนที่ผู้ติดตามน้อยลง เพื่อให้ดูว่าผู้รีวิวเป็นผู้ที่ใช้สินค้าจริงมากขึ้น

สำหรับเพจที่เพิ่งเปิดใหม่ได้ไม่นาน และยังไม่อยากลงงบไปกับการจ้างคนมารีวิวมากนัก หมาน้อยขอแนะนำว่า ลองชวนเพื่อนๆ หรือคนรอบข้างมาช่วยกันเขียนรีวิวในแฟนเพจของสินค้าเจ้านายดูก่อนก็ได้

  1. ส่วนร่วมต้องมีมา

หากลองสังเกตเพจร้านชื่อดังทั้งหลาย เจ้านายจะพบจุดร่วมเดียวกันอย่างหนึ่งคือ ‘การมีส่วนร่วมกับลูกเพจ’ โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างคอนเทนต์ลงเพจแบบสม่ำเสมอ รวมไปถึงการตอบคอมเมนต์ พูดคุยกับลูกเพจในรูปแบบที่เป็นตัวตนของแบรนด์ ไม่ใช่การตอบแบบโรบอต ที่มีแพตเทิร์นเดียวกันหมด

เพราะโลกทุกวันนี้ แพลตฟอร์มขายของออนไลน์ที่เกิดขึ้นมามากมาย ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงและสื่อสารต่อกันได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว ดังนั้นการที่แฟนเพจสามารถสร้างความสุข ให้คนหลั่งไหลเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ได้ ย่อมเป็นการดึงดูดคนให้เกิดความสนใจในสินค้าของเจ้านายได้มากขึ้นไปด้วยนั่นเอง

  1. เทคนิคการตลาดต้องไม่น้อยหน้า

ในบางครั้ง หากทำตามคำแนะนำทั้ง 4 ข้อด้านต้นไปแล้ว แต่เพจของร้านเจ้านายก็ยังไม่เป็นที่รู้จักมากพอ ลองหันมาใช้เทคนิคด้านการตลาดเข้าช่วยดูสิ

นี่คือเคล็ดลับข้อสุดท้ายที่จะช่วยให้คนทั่วไปเข้าถึงเพจของเจ้านายได้ นั่นคือการใส่แฮชแท็กลงในโพสต์หรือคอนเทนต์ต่างๆ ในเพจ โดยเลือกคีย์เวิร์ดที่ติดตลาด และผู้คนให้ความสนใจในช่วงนั้นๆ มาใช้ แต่ต้องไม่ลืมนะว่า แฮชแท็กเหล่านั้นควรมีความเกี่ยวข้องกับสินค้าในร้านของเจ้านายด้วย และอย่าติดแฮชแท็กเยอะเกินไป จนทำให้คอนเทนต์ดูรก ไม่น่าอ่านขึ้นมาแทน

ซึ่งการจะเลือกใช้คีย์เวิร์ดที่ติดตลาด สามารถลองค้นหาจากกูเกิ้ลเทรนด์หรือเข้าไปดูจากช่องเทรนด์ในทวิตเตอร์ได้ ด้วยวิธีนี้บอกได้เลยว่า คนอื่นจะเจอเพจของเจ้านายได้ง่ายขึ้นอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม อยากให้พึงระลึกไว้ว่า หัวใจหลักของการขายของออนไลน์ นอกจากสร้างชื่อให้คนรู้จักได้แล้ว ยังต้องเน้นการค้าขายที่ซื่อสัตย์และจริงใจต่อลูกค้าเสมอ ทั้งในแง่ของการโปรโมทสินค้าและการพูดคุยกับลูกค้าผ่านช่องทางต่างๆ หากสินค้าคุณภาพไม่ดีจริงดังที่โพสต์ไว้, แอดมินเพจพูดจาไม่ดีกับลูกเพจ, หรือแม้แต่บริการหลังการขายไม่ดีแล้วนั้น สุดท้ายเจ้านายจะสามารถขายของได้เพียงครั้งเดียว แถมความน่าเชื่อถือของแบรนด์อาจดูติดลบไปเลย

Comments